พลังงาน และทางเลือก

พลังงาน และทางเลือก
การใช้เชื้อเพลิง
ของประเทศไทย

 

1. ความสำคัญของพลังงาน

พลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน ของประชาชน และเป็นปัจจัยพื้นฐานการผลิต ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงต้องมีการจัดหาพลังงาน ให้มีปริมาณที่เพียงพอ มีราคาที่เหมาะสม และมีคุณภาพที่ดี สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ เพื่อให้สามารถตอบสนอง ความต้องการขั้นพื้นฐาน ของประชาชน และสามารถตอบสนอง ความต้องการใช้ ในกิจกรรมการผลิตต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ

พลังงานที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ พลังงานสิ้นเปลือง และพลังงานหมุนเวียน โดยพลังงานสิ้นเปลือง คือ พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งรวมถึงถ่านหิน หินน้ำมัน ทรายน้ำมัน น้ำมันดิบ น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ส่วนพลังงานหมุนเวียน หมายความรวมถึง พลังงานที่ได้จากไม้ ฟืน แกลบ กากอ้อย ชีวมวล น้ำ แสงอาทิตย์ ลม และคลื่น

2. คุณสมบัติของพลังงานแต่ละชนิด

น้ำมันดิบ มีสถานะตามธรรมชาติ เป็นของเหลวประกอบด้วย สารไฮโดรคาร์บอน ชนิดระเหยง่าย เป็นส่วนใหญ่ และส่วนที่เหลือประกอบด้วย สารกำมะถัน ไนโตรเจน และสารประกอบออกไซด์อื่นๆ ซึ่งมักเรียกว่าเป็นสิ่งปฏิกูล ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อคุณภาพ ของผลิตภัณฑ์ที่กลั่นได้ ราคาของน้ำมันดิบ จะถูกหรือแพง ขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำมันดิบว่า มีสิ่งปฏิกูลเจือปนมากน้อยเพียงใด ผลิตภัณฑ์ที่กลั่นได้จากน้ำมันดิบ ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และยางมะตอย โดยก๊าซปิโตรเลียมเหลว จะใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการหุงต้ม ในยานพาหนะ และในภาคอุตสาหกรรม น้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันเครื่องบิน จะใช้เป็นเชื้อเพลิง ในภาคคมนาคมขนส่ง ส่วนน้ำมันเตา จะใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้า ในภาคอุตสาหกรรม และในการขนส่งทางน้ำ เมื่อมีการนำน้ำมันเชื้อเพลิง ไปเผาไหม้ ก็จะมีฝุ่นละออง เขม่า และก๊าซที่ถูกปล่อยออกมา ระหว่างขบวนการเผาไหม้ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องมีการควบคุม ในเรื่องของคุณภาพน้ำมัน และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการควบคุมเพื่อลดปริมาณ ฝุ่นละออง และก๊าซดังกล่าวไม่ให้เป็นอันตราย ต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม

ก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย สารไฮโดรคาร์บอนประเภทต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือ ประกอบด้วยก๊าซประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีไฮโดรเจนซัลไฟด์ ปนอยู่ด้วยในระดับหนึ่ง การซื้อขายก๊าซธรรมชาติ จะคิดราคาตามค่าความร้อน ของเชื้อเพลิง ส่วนข้อกำหนดอื่นๆ จะเป็นส่วนประกอบ ที่ช่วยให้ความมั่นใจ ในความสะอาดว่า จะไม่มีปัญหาในการใช้ ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ มีค่อนข้างน้อย เนื่องจากในขบวนการ เผาไหม้ก๊าซธรรมชาติ จะถูกเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ ได้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ ได้อย่างสูงสุด ก๊าซธรรมชาติจะถูกนำไปแยกก่อนการใช้ โดยส่วนที่เป็น ก๊าซมีเทน มักจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้า และในอุตสาหกรรม รวมทั้ง ใช้เป็น เชื้อเพลิงในยานพาหนะ ส่วนที่เป็นอีเทน และโพรเพน จะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบ ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และส่วนที่เป็นโพรเพนและบิวเทน จะนำไปใช้เป็นก๊าซหุงต้ม ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม และยานพาหนะ

ถ่านหิน คือ หินตะกอนชนิดหนึ่งซึ่งสามารถติดไฟได้ และมีส่วนประกอบ ที่เป็นสารประกอบ ของคาร์บอนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยน้ำหนัก หรือ ร้อยละ 70 โดยปริมาตร และยังมีสารประกอบ อื่นๆ เช่น ไฮโดรเจน อ๊อกซิเจน ไนโตรเจน และกำมะถัน เป็นต้น การจำแนกคุณสมบัติของถ่านหิน ตามคุณสมบัติทางเคมี และค่าความร้อนอย่างหยาบๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด คือ

  ค่าความร้อน ค่าความชื้น ปริมาณขี้เถ้า ปริมาณกำมะถัน
1) แอนทราไซท์ สูง ต่ำ ต่ำ ต่ำ
2) บิทูมินัส สูง ต่ำ ต่ำ ต่ำ
3) ซับบิทูมินัส ปานกลาง-สูง ปานกลาง ปานกลาง ปานกลาง
4) ลิกไนต์ ต่ำ-ปานกลาง สูง สูง ต่ำ-สูง

ส่วนใหญ่มีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมที่ใช้หม้อไอน้ำ เช่น โรงงานกระดาษ และโรงงานชูรส เป็นต้น อย่างไรก็ตามในการ เผาไหม้ถ่านหินจะมีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ฝุ่นละออง และควัน ดังนั้น ก่อนนำเชื้อเพลิงไปใช้จะต้องหาวิธีการจัดการ กับมลพิษ โดยอาจเลือกใช้ถ่านหินคุณภาพดี หรืออาจลดปริมาณสารมลพิษในเชื้อเพลิง ก่อนนำไปใช้ หรือใช้เทคโนโลยี ในการกำจัดมลพิษที่เกิดขึ้น ก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม

เชื้อเพลิงชีวมวล คือ สารทุกรูปแบบที่ได้จากสิ่งมีชีวิต รวมทั้ง การผลิตจากการเกษตรและป่าไม้เช่น ไม้ฟืน แกลบ กากอ้อย วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ รวมถึง ของเสียจากสัตว์ เช่นมูลสัตว์และของเสีย จากโรงงานแปรรูปทางเกษตร และขยะมาผลิตก๊าซชีวภาพ ในการผลิตพลังงาน จำนวนเท่าๆ กันต้องใช้ไม้ฟืน ในปริมาตรที่มากกว่าน้ำมันและถ่าน ดังนั้น จึงเหมาะที่จะใช้ใน ครัวเรือน

พลังน้ำ เป็นพลังงานที่ได้มาจากแรงอัดดันของน้ำ ที่ปล่อยจากอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน น้ำที่ปล่อยไปนี้ จะได้รับการทดแทนทุกปี โดยฝนหรือการละลายของหิมะ แต่ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ ต้องมีการอพยพสัตว์ป่า และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อม บริเวณดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป

พลังงานแสงอาทิตย์ ได้มาจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ ซึ่งนำมาใช้เป็นพลังงานความร้อน และการสังเคราะห์แสง หรือโดยผ่านอุปกรณ์รับแสง เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อเปลี่ยนเป็น พลังงานไฟฟ้าและความร้อน เพื่อนำไปใช้งานต่อไป

พลังงานลม เกิดจากการเคลื่อนตัวของอากาศ ถ้าอากาศเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง จะทำให้มีพลังงานมาก ซึ่งสามารถนำมาใช้หมุนกังหันลม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

พลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นการนำน้ำร้อนที่มีอยู่ใต้พื้นดิน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาพลังงาน ความร้อนใต้พิภพ มาใช้ประโยชน์ อย่างเด่นชัดมักเป็นกลุ่มประเทศ ที่มีสภาพทางธรณีวิทยา เอื้ออำนวยต่อศักยภาพ ทางพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งได้แก่ บริเวณที่เปลือกโลกมีการเคลื่อนไหว และมีแนวของภูเขาไฟอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศอิตาลี ไอซ์แลนด์ สหรัฐอเมริกา (แถบตะวันตก) เม็กซิโก ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น

พลังงานนิวเคลียร์ เป็นพลังงานที่ได้มาจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ ซึ่งเกิดจากการแตกตัวของ นิวเคลียสของธาตุเชื้อเพลิง เช่น ยูเรเนียม และให้พลังงานความร้อนมหาศาล จึงใช้ในการผลิตไฟฟ้า ปฏิกิริยานิวเคลียร์ สามารถขจัดปัญหา การปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมทั้ง การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นปัญหาหลักของเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ แต่ก็มีปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นที่อาจเกิดจาก การใช้สารรังสี ซึ่งหากมีเทคโนโลยีควบคุมที่ดี ก็จะป้องกันการรั่วไหลของสารรังสีได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการกำจัดกากนิวเคลียร์ ซึ่งจะต้องมีมาตรการควบคุมดูแล ไม่ให้การกำจัดกาก ของเสียส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เนื่องจากสารเหล่านี้มีค่าทางรังสีสูงมาก และจะคงสภาพอยู่เป็นเวลานับพันๆ ล้านปี

3. การใช้พลังงานและแหล่งสำรองของโลก

ปัจจุบัน การใช้พลังงานของโลก ประกอบด้วย เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินมีปริมาณรวมกันถึงร้อยละ 95 และอีกร้อยละ 2 มาจากพลังงานนิวเคลียร์ ส่วนที่เหลือร้อยละ 3 นำมาจากพลังงานประเภทอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานจากคลื่นในมหาสมุทร และพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นต้น โดยปริมาณการใช้พลังงานของโลกในปี 2540 มีปริมาณเมื่อเทียบเท่า น้ำมันดิบ รวมทั้งสิ้น 9,371 พันล้านลิตร แบ่งเป็น พลังงานชนิดต่างๆ ดังนี้

สัดส่วนการใช้พลังงานปฐมภูมิของโลกในปี 2540

พลังงาน พันล้านลิตร
เทียบเท่าน้ำมันดิบ
ร้อยละ
น้ำมัน 3,949 42
ถ่านหิน 2,666 28
ก๊าซธรรมชาติ 2,299 25
พลังงานนิวเคลียร์ 194 2
พลังงานหมุนเวียน และอื่นๆ 263 3
รวม 9,371 100

หมายเหตุ พลังงานปฐมภูมิ (Primary Energy) หมายถึง พลังงานที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปไปเป็นพลังงานอีกรูปแบบหนึ่ง

เชื้อเพลิงที่ใช้แพร่หลาย ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ พลังน้ำ ความร้อนใต้พิภพ พลังลม และอื่นๆ โดยในปี 2538 ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ที่ใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากที่สุดในโลก คือ มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 43.1 รองลงมาได้แก่นิวเคลียร์ ร้อยละ 20.0 ก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 18.6 น้ำมัน ร้อยละ 10.2 และอื่นๆ อีกร้อยละ8.2 ในเอเซีย-แปซิฟิก และทวีปอเมริกาเหนือ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน ไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของเชื้อเพลิง ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งมากกว่าการใช้ในทวีป อื่นๆ ส่วนประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งมีน้ำมันของตนเอง และก๊าซธรรมชาติ จะใช้น้ำมันและ ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงหลัก ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า

สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโลก ปี 2538
หน่วย : ร้อยละ

  ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน นิวเคลียร์ พลังน้ำ
และอื่นๆ
รวม
อเมริกาเหนือ 15.3 4.9 0.7 7.1 3.0 31.0
เอเชีย และออสเตรเลีย 14.3 2.7 3.5 3.6 2.1 26.2
ยุโรป 6.0 2.0 1.7 7.2 1.9 18.8
โซเวียตและอื่นๆ 5.9 7.2 2.4 2.0 1.0 18.5
ตะวันออกกลาง และอาฟริกา 1.6 1.8 1.8 0.1 0.2 5.5
รวมการใช้ของโลก 43.1 18.6 10.1 20.0 8.2 100.0

การเลือกใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศต่างๆ มีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เช่นต้องเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูก มีปริมาณที่เพียงพอและแน่นอน นอกจากนี้จะต้องมีการกระจาย แหล่งเชื้อเพลิงหลายชนิด เพื่อกระจายความเสี่ยง และต้องเป็นเชื้อเพลิง ที่มีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมน้อย ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่หลายประเทศ เลือกใช้ เพราะว่ามีราคาถูก ราคามีเสถียรภาพ และมีความมั่นคงในการจัดหา แม้ประเทศเหล่านั้นจะมีทรัพยากรพลังงาน ทั้งก๊าซธรรมชาติและ น้ำมันอยู่ในประเทศมากก็ตาม เช่น

  • สหรัฐอเมริกา มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติมากถึง 4,757 พันล้านลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีถ่านหิน 279,719 พันล้านลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ แต่สหรัฐอเมริกาเอง ก็ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 54.6 ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด
  • อังกฤษ มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติมากถึง 766 พันล้านลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีน้ำมัน 795 พันล้านลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ แต่อังกฤษมีพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงถึงร้อยละ 47.8 ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด
  • ฮ่องกง ซึ่งไม่มีทรัพยากรพลังงานเลย และเป็นประเทศเล็กๆ ประชากรอยู่หนาแน่น พลังงานไฟฟ้าเกือบทั้งหมด คือ ร้อยละ 96.6 ที่ผลิตได้ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง
  • ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มีแหล่งพลังงานของตนเองน้อยมาก และพยายามกระจาย เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและนิวเคลียร์ โดย ประเทศเหล่านี้ใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานไฟฟ้าร้อยละ 17.4, 34.3 และ 23.8 ตามลำดับ
  • ประเทศไทย ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าร้อยละ 44.1 น้ำมัน ร้อยละ 31.8 และลิกไนต์ร้อยละ 20.6 ในปี 2540

เปรียบเทียบปริมาณสำรอง และการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ของประเทศต่างๆ
หน่วย : พันล้านลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ

  ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน
สำรอง1 ใช้ผลิตไฟฟ้า 2 (%) สำรอง1 ใช้ผลิตไฟฟ้า2 (%) สำรอง1 ใช้ผลิตไฟฟ้า 2 (%)
อเมริกา 279,719 54 4,757 16 4,738 2
อังกฤษ 2,907 48 766 15 795 5
ญี่ปุ่น 954 17 - 18 - 21
ฮ่องกง - 97 - 0 - 3
ไต้หวัน 115 34 - 5 - 24
เกาหลีใต้ 213 24 - 11 - 22
ไทย 1,676 21 354 44 17 32

หมายเหตุ

  1. ปริมาณสำรองเป็นข้อมูล ณ สิ้นปี 2540
  2. สัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงแต่ละชนิด ในการผลิตไฟฟ้าใช้ข้อมูลปี 2538

แนวโน้มการใช้พลังงานของโลก จากการคาดการณ์ ของกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา คาดว่าน้ำมัน ยังคงมีสัดส่วนการใช้สูง เป็นอันดับหนึ่ง อันดับสอง คือ ก๊าซธรรมชาติ และรองลงมาคือ ถ่านหิน โดยคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2563 จะมีสัดส่วนการใช้น้ำมันร้อยละ 37 ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 27 ถ่านหินร้อยละ 25 พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 8 และพลังงาน นิวเคลียร์ร้อยละ 3 ซึ่งจะเห็นได้ว่า สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่ม สูงขึ้นจากปี 2540

หากโลกมีการใช้พลังงาน ในระดับที่เป็นอยู่ และไม่มีการค้นพบเพิ่มเติมแล้ว คาดว่าโลก จะมีแหล่งสำรองน้ำมันใช้ไปได้ อีกประมาณ 42 ปี ก๊าซธรรมชาติอีกประมาณ 64 ปี และถ่านหินอีกประมาณ 220 ปี นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นไป โดยแหล่งสำรองพลังงานดังกล่าว จะกระจายอยู่ ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก และ ณ สิ้นปี 2540 มีปริมาณสำรองของพลังงานชนิดต่างๆ คงเหลือดังนี้

  • น้ำมัน มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว คงเหลือ 164,966 พันล้านลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ
  • ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว คงเหลือ 146,050 พันล้านลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ
  • ถ่านหิน มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว คงเหลือ 584,018 พันล้านลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ

แหล่งสำรองพลังงานของโลก ณ สิ้นปี 2540 สามารถจำแนกแหล่งตามภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้ดังนี้

  น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน
พันล้านลิตร ร้อยละ พันล้านลิตร ร้อยละ พันล้านลิตร ร้อยละ
- ตะวันออกกลาง 107,620 65.2 49,314 33.8 113 0.02
- อเมริกาเหนือ 12,179 7.4 8,439 5.8 141,702 24.26
- อเมริกาใต้ และอเมริกากลาง 13,704 8.3 6,351 4.3 5,774 0.99
- ยุโรป 3,211 2.0 5,614 3.8 88,656 15.18
- สหภาพโซเวียต (เดิม) 10,398 6.3 57,214 39.2 136,437 23.36
- อาฟริกา 11,129 6.7 9,959 6.8 34,987 5.99
- เอเซีย-แปซิฟิก 6,725 4.1 9,159 6.3 176,349 30.20
รวม 164,966 100.0 146,050 100.0 584,018 100.0

4. การใช้พลังงานและแหล่งสำรองของไทย

ในปี 2540 ประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังงานปฐมภูมิโดยรวม 93 พันล้านลิตรเทียบเท่า น้ำมันดิบ โดยมีสัดส่วนการใช้น้ำมันสูงเป็นอันดับหนึ่ง ถึงร้อยละ 42 อันดับสองคือ พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 26 รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 17 ลิกไนต์ร้อยละ 9 และถ่านหิน นำเข้าและซื้อไฟฟ้าสัดส่วนเท่ากันคือร้อยละ 3 จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ของไทยค่อนข้างสูง พลังงานหมุนเวียนที่นิยมใช้กันมากได้แก่ ไม้ฟืน ถ่าน กากอ้อย และแกลบ โดยส่วนใหญ่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มของครัวเรือนในชนบทและในอุตสาหกรรมอาหาร

สัดส่วนการใช้พลังงานปฐมภูมิ (Primary Energy) ของไทยในปี 2540

พลังงาน พันล้านลิตร
เทียบเท่าน้ำมันดิบ
ร้อยละ
น้ำมัน 39.5 42
พลังงานหมุนเวียน 24.4 26
ก๊าซธรรมชาติ 16.3 17
ลิกไนต์ 8.1 9
ถ่านหินนำเข้า 2.4 3
ซื้อ (ไฟฟ้า) 2.3 3
รวม 93.0 100

สัดส่วนการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย (Final Energy) ในสาขาการผลิตต่างๆ ของไทย แบ่งเป็น 4 สาขา ใหญ่ๆ คือ สาขาเกษตรกรรม สาขาอุตสาหกรรม สาขาที่อยู่อาศัยและธุรกิจ และสาขาคมนาคมขนส่ง โดยมีสัดส่วนการใช้พลังงานในสาขาต่างๆ ดังนี้

สัดส่วนการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย (Final Energy) แยกตามสาขาการผลิตในปี 2540

สาขาการผลิต พันล้านลิตร
เทียบเท่าน้ำมันดิบ
ร้อยละ
คมนาคมขนส่ง 24.4 40
อุตสาหกรรม 19.8 32
ที่อยู่อาศัยและธุรกิจ 15.1 25
เกษตรกรรม 2.3 3
รวม 61.6 100

หมายเหตุ พลังงานขั้นสุดท้าย (Final Energy) หมายถึงพลังงานขั้นสุดท้ายที่ผู้บริโภคใช้ โดยไม่รวมเชื้อเพลิง ที่นำไปใช้ในการผลิตพลังงานทุติยภูมิ (Secondary Energy) ซึ่งหมายถึงการนำพลังงานปฐมภูมิมาผ่านการแปรรูป เช่น น้ำมันสำเร็จรูป และไฟฟ้า

ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า รัฐได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังลมพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำขนาดเล็ก และพลังงานจากกาก หรือเศษวัสดุเหลือใช้ในการเกษตร หรือ กากจากการผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือการเกษตร ขยะมูลฝอย ไม้จากการปลูกป่า เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้า จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producers) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว จำนวน 56 ราย คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 2,366 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตรายเล็ก ที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว จำนวน 37 ราย เป็นปริมาณ ไฟฟ้าที่เสนอขาย 1,220 เมกะวัตต์ โดยแยกประเภทการใช้เชื้อเพลิงได้ดังนี้

ประเภทเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก
สถานภาพ ณ 30 เมษายน 2542

  จำนวนที่ได้รับการตอบรับแล้ว จำนวนที่ขายไฟเข้าระบบแล้ว
ราย เมกะวัตต์ ราย เมกะวัตต์
- ก๊าซธรรมชาติ 22 1,587.9 14 978.0
- กากอ้อย 14 67.5 13 64.5
- ถ่านหิน 10 618.0 4 118.0
- แกลบ , เศษไม้ 6 57.0 4 49.8
- ขยะ 1 1.0 1 1.0
- น้ำมัน 1 9.0 1 9.0
- ก๊าซชีวภาพ 1 0.1 -

วันที่ : 8 พ.ย. 2554
ที่มา :
อ่าน : 1485

ศูนย์เทคโนโลยีที่เหมาะสม คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
680  หมู่ 11  ถนนนิตโย  ตำบลธาตเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร  จังหวัดสกลนคร  47000
โทรศัพท์ 042-970021 ต่อ 358 ,042-743886  โทรสาร  042-970029